“วันสงกรานต์” หรือวันขึ้นปีใหม่ไทย ซึ่งในแต่ละจังหวัดอาจจะมีการประกวด”นางสงกรานต์” เชื่อว่ามีอีกหลายคนที่ยังไม่ทราบว่านางสงกรานต์ คือใคร มีที่มาคล้ายกับนางนพมาศหรือไม่ แล้วเกี่ยวกับปีใหม่ไทยอย่างไร??? หลากหลายคำถามที่เราจะนำข้อมูลเกี่ยวกับนางสงกรานต์มาฝากัน
ความเป็นมาของนางสงกรานต์ มีบันทึกไว้บนจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยกล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า นานมาแล้วมีเศรษฐีคนหนึ่งรวยทรัพย์แต่ไม่มีบุตรไว้สืบสกุล ซึ่งบ้านของเศรษฐีคนนี้ตั้งอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีที่ไม่มีบุตร จนทำให้เศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์เพื่อตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร แต่แม้ว่าเศรษฐีจะตั้งจิตอธิษฐานอยู่นานกว่าสามปี ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีบุตร
จนกระทั่งวันหนึ่งเป็นช่วงที่พระอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ เมื่อไปถึงจึงได้นำข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น ทำให้รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐีจึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ซึ่งพระอินทร์มีเมตตาได้ประทานเทพบุตรให้องค์หนึ่งนาม “ธรรมบาล” ให้ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี ต่อมาเทพบุตรก็คลอดออกมา เศรษฐีจึงตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า “ธรรมบาลกุมาร” และได้ทำการปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย
ธรรมบาลกุมารค่อยๆ เติบโตขึ้นและได้เรียนรู้ภาษานก เมื่ออายุเจ็ดขวบ ก็ได้เรียนไตรเภทจบ ธรรมบาลกุมาร จึงได้เป็นอาจารย์บอกความมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย ต่อมาในวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ โดยตั้งเงื่อนไขไว้ว่า หากธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่หากตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารแทน ซึ่งปัญหาที่ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมาร ก็คือ “ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน”
เมื่อได้ฟังคำถามดังนั้น ธรรมบาลกุมาร ไม่สามารถตอบได้ จึงขอผัดผ่อนท้าวกบิลพรหมไปอีก 7 วัน ซึ่งระหว่างนั้น ธรรมบาลกุมาร ก็ได้พยายามคิดหาคำตอบ กระทั่งล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาลและคิดว่า หากไม่สามารถตอบปัญหานี้ได้ ก็ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหม แต่โชคดีที่ธรรมบาลกุมารสามารถฟังภาษานกได้ ทำให้บังเอิญได้ยินนกอินทรี 2 ตัว ผัวเมียเกาะทำรังอยู่ สนทนากันบนต้นไม้ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้จะไปหาอาหารแห่งใด สามีได้ตอบนางนกไปว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งคาดว่าจะถูกท้าวกบิลพรหมฆ่า เพราะไม่สามารถตอบปัญหาได้ นางนกจึงถามว่าคำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง แม้แต่นางนกเองก็ไม่สามารถตอบได้ ทำให้สามีเฉลยว่า ตอนเช้าศรีจะอยู่ที่หน้า เพราะคนเราต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยงศรีจะอยู่ที่อก เพราะคนจะเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็นศรีจะอยู่ที่เท้า เพราะจะต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน
ได้ยินดังนั้น ธรรมบาลกุมารจึงได้จดจำสิ่งที่สามีนกพูดไว้ กระทั่งวันรุ่งขึ้น จึงได้นำคำตอบดังกล่าวไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ซึ่งหลังจากที่ท้าวกบิลพรหมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้จึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ด อันเป็นบาทบาจาริกาของพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่าจะทำการตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ตามคำท้าไว้ แต่ปัญหาคือ พระเศียรของพระองค์หากได้ตกไปอยู่ที่ใด ก็จะเป็นอันตรายต่อที่นั่น หากตั้งเศียรไว้บนแผ่นดินก็จะทำให้ไฟไหม้โลก หากโยนขึ้นไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง หากทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง
ท้าวกบิลพรหม จึงมอบหมายให้ธิดาทั้ง 7 ผลัดเวรกันนำพานมารองรับเศียรพระองค์ โดยให้ธิดาองค์โตคือ นางทุงษะ เป็นผู้เริ่มต้นโดยนางทุงษะได้เชิญพระเศียรของท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที จากนั้นนำไปประดิษฐานไว้ยังถ้ำคันธชุลี ณ เขาไกรลาศ เมื่อครบกำหนด 365 วัน หรือหนึ่งปีที่เวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้ง 7 ก็จะทรงพาหนะของแต่ละองค์ ทำการผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่เช่นนี้ทุก ๆ ปี เนื่องจากเทพธิดาทั้ง 7 จะปรากฏตัวในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ นั่นจึงกลายเป็นที่มาของตำนาน “นางสงกรานต์” ส่วนท้าวกบิลพรหมนั้น นั้นก็คือ “พระอาทิตย์” นั่นเอง