เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ …ชุ่มฉ่ำกับสายน้ำทั่วไทย

ประเพณีวันสงกรานต์ เป็นประเพณีและเทศกาลสำคัญ อันยิ่งใหญ่ของคนไทยทั่วประเทศ ทุกๆ ปีที่คนไทยได้สืบสานประเพณีความชุ่มฉ่ำมายาวนาน และที่สำคัญยังเป็นวันปีใหม่ของไทยอีกด้วย พี่น้องชาวไทยต่างเดินทางมาท่องเที่ยว และเฉลิมฉลองประเพณีในวันสงกรานต์ และในวันหยุดยาว ซึ่งเราได้รวบรวมสถานที่จัดงานวันสงกรานต์สำคัญๆ “เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์” มาฝากนักท่องเที่ยวได้ร่วมเฉลิมฉลองแบบชุ่มฉ่ำกัน
เมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
วันสงกรานต์ล้านนาในภาคเหนือ หรือ “ประเพณีปี๋ใหม่เมือง” เริ่มวันที่ 13 เมษายน หรือ “วันสังขานต์ล่อง” เป็นวันสิ้นสุดศักราชเก่าของชาวภาคเหนือ โดยจะมีการจุดประทัดในช่วงเช้า เพื่อเป็นการขับไล่สิ่งเลวร้ายในปีก่อนให้พ้นไป ช่วงเย็นจะมีงานบุญขนาดใหญ่ เป็นการแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองซึ่งจะมีทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ มารวมตัวกันอย่างหนา แน่นเพื่อร่วมชม ส่วนวันที่ 14 เมษายน หรือ “วันเนา” หรือ “วันเน่า” เป็นวันที่ห้ามด่าทอ ว่าร้ายผู้อื่น ไม่เช่นนั้นอาจทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี วันที่ 15 เมษายน “วันพญาวัน” หรือเป็น “วันเถลิงศก” ชาวบ้านไปทำบุญตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย วันที่ 16 เมษายน “วันปากปี” ทุกคนจะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่าง ๆ รวมทั้งรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพื่อขอขมา วันที่ 17 เมษายน “วันปากเดือน” วันสุดท้ายขอองเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านจะทำการปัดตัว เพื่อส่งเคราะห์ออกไป เป็นประเพณีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะทางภาคเหนือเท่านั้น
งานประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน
ส่วนใหญ่จะเริ่มวันที่ 16 – 17 เมษายน ซึ่งจะจัดขึ้นที่บริเวณชายหาดบางแสน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เป็นงานประเพณีก่อพระทรายวันไหลที่ชาวตำบลแสนสุข ถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณ สมาชิกในชุมชนของหมู่บ้านต่างๆ มาทำบุญร่วมกันเนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ไทย ปัจจุบันการละเล่นและประเพณี ดั้งเดิมบางอย่างกำลังจะเริ่มสูญหายไป ทำให้เทศบาลเมืองแสนสุขได้อนุรักษ์ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี และการละเล่นพื้นบ้านอันดีงามไว้ให้คงอยู่และเป็นที่รู้จักแพร่หลาย กิจกรรมหลัก คือการประกวดและก่อพระทรายตลอดชายหาดบางแสน มีการแข่งขันมวยทะเล และการละเล่นพื้นบ้าน การเล่นน้ำสงกรานต์วันไหล
สงกรานต์สังขละบุรี
ในวันที่ 13 – 18 เมษายน ณ วัดวังก์วิเวการาม (หรือวัดหลวงพ่ออุตตมะ) อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่”สะพานแห่งศรัทธา เป็นวันสงกรานต์สังขละบุรี” ที่จะทำให้คุณได้สัมผัสกับประเพณีสงกรานต์อันงดงามของชาวมอญ ช่วงเช้าก็มีการทำบุญใส่บาตร ซึ่งจะเห็นภาพชาวมอญที่เดินทูนถาดอาหารไว้บนศีรษะเพื่อนำไปทำการถวายพระ การสรงน้ำพระตามแบบประเพณีของชาวมอญ เป็นการสรงน้ำผ่านรางกระบอกไม้ไผ่ที่นำมามัดรวมต่อๆกัน โดยเป็นระยะทางยาวนับกิโลเมตร ซึ่งวันสรงน้ำพระในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะพบภาพชาวบ้านผู้ชายจะพร้อมใจกันนอนเรียงต่อกันเป็นสะพานมนุษย์ เพื่อให้พระเถระเดินย่ำไปบนหลังจนกว่าจะถึงบริเวณที่นั่งสรงน้ำ หลังจากสรงน้ำพระเสร็จแล้วชาวบ้านผู้ชายจะอุ้มพระไปส่งที่บันไดกุฏิ
ประเพณีสงกรานต์กรุงเก่า
ช่วงเช้าจัดงานที่ อุทยานประวัติศาสตร์ บริเวณหน้าวิหารพระมงคลบพิตร ช่วงบ่ายอยู่ที่หน้าสำนักงานเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาและบริเวณรอบๆ เกาะเมือง ไปจนถึงหน้าพระราชวังจันทร์เกษม และบริเวณใต้สะพานปรีดีธำรง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีกิจกรรมตักบาตรหน้าวิหารพระมงคลบพิตร จำนวน 500 รูป การปล่อยนก ปล่อยปลา และชมขบวนแห่นางสงกรานต์จากหน่วยงานต่าง ๆ มีการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ สรงน้ำพระ พร้อมเล่นน้ำสงกรานต์กับช้างในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ ชมฟรีคอนเสิร์ต ,การประกวดเทพีสงกรานต์ รถบุษบก และรถแห่นางสงกรานต์ ,พิธีรดน้ำผู้สูงอายุ และการเล่นน้ำตลอดเส้นทาง
สงกรานต์พระประแดง
ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 21 – 23 เมษายน มาร่วมประเพณีสงกรานต์พระประ แดง หรือเดิมเรียกว่า “สงกรานต์ปากลัด” ซึ่งเป็นรูปแบบสงกรานต์ที่คงรักษาวัฒนธรรมของชาวรามัญ– ไทยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เอกลักษณ์ของสงกรานต์พระประแดงที่เริ่มจากวันท้ายของสงกรานต์ (ถัดจากวันที่ 13 เมษายน อีกหนึ่งอาทิตย์) ทุกหมู่บ้านจะรวมใจกันจัดขบวนแห่ที่มีความยิ่งใหญ่ ซึ่งมีความสวยงามตระการตาของเหล่าขบวนแห่นางสงกรานต์ ขบวนรถบุปผาชาติ ขบวนสาวรามัญ–หนุ่มลอยชาย และเอกลักษณ์การแต่งกายด้วยชุดไทยรามัญ และชุดลอยชาย สำหรับแห่นก – แห่ปลาไปทำพิธีปล่อยนก – ปล่อยปลา ณ พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ทำให้อายุยืนยาว ระหว่างเดินทางกลับบ้านก็จะมีหนุ่มในหมู่บ้านต่าง ๆ ออกมาเล่นสาดน้ำกับสาว ๆยังมีประเพณีการกวนกาละแม (กวันฮะกอ)ให้ได้ชมอีกด้วย
งานประเพณีสงกรานต์นครพนม รื่นรมย์ บุญปีใหม่ ไทย-ลาว
ช่วงวันที่ 11 – 15 เมษายน ณ บริเวณลานกันเกราหน้าตลาดอินโดจีน เขตเทศบาลเมืองนครพนมและเขตเทศบาลตำบลเรณูนคร จังหวัดนครพนม ร่วมงานประเพณีวันสงกรานต์รื่นรมย์บุญปีใหม่ไทย- ลาว ตามแบบวัฒนธรรม 7 ชนเผ่าของชาวนครพนม เป็นการรักษารูปแบบของประเพณีที่แสดงเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ร่วมตักบาตรข้าวเหนียววันปีใหม่ไทย ร่วมกิจกรรมแข่งขันสะบ้าทอย พิธีตบปะทาย หรือก่อเจดีย์ทราย ไหว้พระธาตุประจำวันเกิด 7 วัน 8 พระธาตุ และอิ่มอร่อยกับตลาดโบราณย้อนยุค และเล่นน้ำสงกรานต์ 7 ชนเผ่า ชมการแสดงวัฒนธรรม ที่ อำเภอเรณูนคร จะมีการฟ้อนรำผู้ไทที่มีความอ่อนช้อยงดงาม และความมีมนต์ขลังของพิธีบายศรีสู่ขวัญ รวมทั้งขบวนแห่นางสงกรานต์ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างยิ่งใหญ่งดงาม
นอกจากนี้ยังมีประเพณีสรงน้ำโอยทานสงกรานต์ศรีสัชนาลัย 8 – 12 เมษายน ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระยาลิไท และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย , งานประเพณีสงกรานต์และงานแห่ต้นดอกไม้วันที่ 13 – 16 เมษายน ณ เทศบาลเมืองเลย จ.เลย ,งานมหาสงกรานต์อีสาน-หนองคาย ณ วัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย ,ส่วนวันที่ 13-15 เมษายน ร่วมประเพณีสงกรานต์ ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น ที่จัดกิจกรรมมากมาย และ ปิดท้ายที่งานสงกรานต์มุกดาหาร 4 แผ่นดิน อินโดจีน ประจำปี จ.มุกดาหาร เป็นงานประเพณีสงกรานต์อินโดจีน 4 เชื้อชาติจัดแสดงในรูปแบบแสง สี เสียงบนเวทีกลางแม่น้ำโขง เชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2 พร้อมทั้งการแสดงม่านน้ำพุและน้ำพุดนตรีในวันที่ 13 –15 เม.ย.สนุกสนานกับกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์ที่อุโมงค์น้ำ โฟมปาร์ตี้