‘วานิลลา’กลิ่นแห่งความสงบผ่อนคลาย หอมหวานชวนลิ้มลอง

หากเอ่ยถึงกลิ่นวานิลลา เชื่อว่าหลายคนอาจจะกำลังหลับตาอย่างพริ้มเพรา เพื่อนึกถึงกลิ่นที่ถูกใช้ในการปรุงอาหารจำพวกขนมและของหวาน เพราะความหอมหวานแบบนุ่มลึกนี่เอง จึงได้ทำให้กลิ่นวานิลลาได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในวงการน้ำหอม ว่ากันว่ากลิ่นวานิลลานั้นเป็นกลิ่นที่คุ้นเคยในการสร้างความรู้สึกและภาพลักษณ์ของขนมที่ให้ความรู้สึกหอมหวานอย่างนุ่มนวล สนุกสนาน และแสดงถึงความเอาใจใส่ อบอุ่นซึ่งเป็นความรู้สึกในวัยเด็กของคนทั่วไป
ต้นแบบของการต่อยอดความหอมอีกหลายๆ กลิ่น
สำหรับวงการกลิ่นความหอม ความนิยมในโทนกลิ่นแบบขนมของกลิ่นวานิลลาได้รับความนิยมอย่างมาก และยังต่อยอดให้เกิดกลิ่นต่างๆ ในแนวนี้ออกมาอีกมาก ซึ่งเป็นการให้ลักษณะของกลิ่นแบบ gourmand ซึ่งเป็นลักษณะของกลิ่นที่ได้แนวความคิดมาจากกลิ่นของขนมหวานต่างๆ โดยลักษณะของกลิ่นหอมหวานในสายนี้มีอยู่หลายกลิ่นด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นวานิลลา ช็อกโกแล็ต น้ำผึ้ง น้ำนมหรืออาจเป็นกลิ่นของผลไม้เช่น สตอร์เบอร์รี่ หรือ เบอร์รี่
ความแตกต่างของกลิ่นวานิลลาทางการแพทย์และน้ำหอม
ความหอมหวานของกลิ่นวานิลลาที่นำมาใช้ในส่วนผสมต่างๆ มีความแตกต่างในด้านลักษณะของวิธีการใช้งาน ซึ่งหากเป็นกลิ่นวานิลลา ที่เป็นส่วนผสมในการปรุงน้ำหอมจะเป็นกลิ่นวานิลลาแบบผสมเพื่อสร้างโทนกลิ่นเฉพาะตามที่นักปรุงน้ำหอมแต่ละคนต้องการเป็นกลิ่นที่ได้จากการสังเคราะห์ทางเคมี ส่วนกลิ่นวานิลลาที่ใช้ในทางการแพทย์จะต้องเป็นกลิ่นวานิลลาที่บริสุทธิ์และไม่มีการเจือปนหรือผสมกับกลิ่นใด ๆ ซึ่งในวิธีการสกัดแบบธรรมชาตินั้นสารให้กลิ่นของวานิลลา จะถูกสกัดจากเมล็ดของต้น Vanilla planifola ซึ่งเป็นพืช ตระกูลกล้วยไม้แบบเถาวัลย์ที่มีมากในประเทศ มาดากัสการ์
ประโยชน์ของกลิ่นวานิลลา
กลิ่นวานิลลาที่ให้ความหอมหวานนี้มีประโยชน์ในหลายด้าน จากการศึกษาทางด้านจิตวิทยาที่ทดลองโดยมหาวิทยาลัย Tubingen ในประเทศเยอรมันพบ ว่ากลิ่นวานิลลามีความสามารถในการสร้างความรู้สึกสงบนิ่ง และลดความตื่นตระหนกได้เป็นอย่างดี และยังได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในหลากหลายวงการอย่าง แม้กระทั่งวงการแพทย์หรือในด้าน จิตศาสตร์ และใช้ในจุดประสงค์หลักคือเพื่อช่วยในการสร้างความรู้สึกสงบและผ่อนคลาย โดยมีการนำมาประยุกต์ใช้ในกลุ่มของคนไข้ที่มีอาการทางจิตที่ไม่ร้ายแรง ประเภทกลุ่มคนไข้ที่เป็นโรคเครียดหรือวิตก หรืออาจนำไปใช้ในการบำบัดความ เครียดให้กับกลุ่มคนไข้ที่ต้องเผชิญกับความเครียดในการต่อสู้กับโรคที่ร้ายแรง เช่น มะเร็ง หากคนไข้มีความรู้สึกที่ผ่อนคลายมากขึ้นก็ย่อมทำให้แพทย์สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น