สาระน่ารู้

กลิ่นอายวันสงกรานต์..ชุ่มฉ่ำทั่วหล้าเมืองไทย

ในสมัยโบราณเรานับถือเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปี และในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ นับเป็นวันและเวลาที่ตั้งต้นสู่ปีใหม่ตามการคำนวณของโหราศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้กำหนดให้ใช้ วันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่เพราะสอดคล้องกับธรรมเนียม ซึ่งก็คือวันสงกรานต์ นั่นเอง ทำให้มีการใช้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันปีใหม่ของไทยแต่นั้นมาโดยตลอด ต่อมาในปี พ.ศ.๑๔๘๓ คณะรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ได้ประกาศให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นวันขึ้นปีใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศอื่น ๆ ที่เป็นสากลทั่วโลกและใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

กลิ่นอายวันสงกรานต์..ชุ่มฉ่ำทั่วหล้าเมืองไทย

เมื่อถึงเดือน ๕ ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายนของทุก ๆ ปีเราเรียกวันปีใหม่ไทยนี้ว่า ” วันสงกรานต์ ” ซึ่งชาวไทยได้ยกให้เป็นประเพณีไทยที่สืบทอดกันมาตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้ ซึ่งในวันสงกรานต์จะมีงานรื่นเริง การรดน้ำดำหัว ในชนบทหลายแห่ง มีการละเล่นพื้นเมืองต่างกัน บางแห่งอาจนำน้ำหอมเสื้อผ้าอาภรณ์ไปไหว้ขอพรผู้ใหญ่ในวันสงกรานต์อีกด้วย ทางพุทธศาสนาก็จัดให้มีการบายศรี การทำบุญ และสรงน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ตามวัดต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง

แอ่วสงกรานต์ภาคเหนือ

สงกรานต์ล้านนา หรือ “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง” ส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๓ – ๑๘ เมษายน แต่ละบ้านจะมีการทำความสะอาดบริเวณบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนในวันที่ ๑๔ เม.ย. เป็นวันที่ห้ามด่าทอว่าร้ายใครเพราะจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี และวันที่ ๑๕ เม.ย. ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนที่จะไปรดน้ำดำหัวขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย ฯลฯ

ม่วนซื่นโฮแซวกับสงกรานต์ภาคอีสาน

ชาวอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า “บุญเดือนห้า” หรือ”ตรุษสงกรานต์” ส่วนใหญ่เป็นพิธีแบบเรียบง่าย เริ่มตั้ง ๑๓ – ๑๕ เมษายน โดยชาวบ้านจะจัดเตรียมน้ำอบไปรวมกันที่ศาลาวัดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป ต่อด้วยการรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษจากนั้นก็จะเป็นการสาดน้ำสงกรานต์กัน

สงกรานต์ภาคใต้

วันที่ ๑๓ เม.ย.มีพิธี “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์ภาคใต้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง โดยจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์สิ่งไม่ดีออกไป ส่วน ๑๔ เม.ย. ทำบุญตักบาตรที่วัด และสรงน้ำพระพุทธรูป ๑๕ เม.ย. “วันรับเจ้าเมืองใหม่” เป็นพิธีต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามและส่งท้ายสงกรานต์ประเพณีสงกรานต์

 

เพราะวันสงกรานต์เป็นประเพณีไทยแต่ในสมัยอดีตที่มีการสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ จึงทำให้มีกิจกรรมต่างๆ มากมายในวันสงกรานต์ที่จะทำให้พี่น้องชาวไทย มีความสุขที่อยากจะร่วมสืบสานประเพณีและอนุรักษ์ไว้ต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน นับ ว่าเป็นกิจกรรมดีๆที่น่ารักษาให้อยู่คู่กับพี่น้องชาวไทยอย่างยาวนานสืบต่อไป