กลิ่นหอมอันล้ำค่าเมื่อนำดอกกระดังงานำมาลนไฟ

เชื่อว่าคนไทยคงรู้จักคุ้นเคยกับกระดังงามานานแล้ว ดอกกระดังงา เป็นดอกไม้สีเหลืองกลีบ ยาวๆ ส่งกลิ่นหอมคละคลุ้งไปทั่วยามได้อยู่ใกล้ๆ ต้น แม้ดอกจะร่วงโรยสักเพียงไหน ก็ตาม ซึ่งในภาษาไทยของเรามีถ้อยคำสำนวนที่คนไทยคุ้นเคยได้ใช้กันมานาน ซึ่งมีกำเนิดมาจากความช่างสังเกตของคนไทยที่มีต่อต้นไม้ ดอกไม้และมักจะหยิบ เอาลักษณะเด่น หรือความพิเศษออกมาเปรียบเทียบกับลักษณะของอย่างอื่นหรือของมนุษย์ ทำให้เราต่างก็คุ้นเคยและเข้าใจความหมายของสำนวนที่มาจากต้นไม้หรือดอกไม้นั้นได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างของสำนวน “กระดังงาลนไฟ” ที่คนไทยส่วนใหญ่จะเข้าใจความหมายเชิงเปรียบเทียบของสำนวนนี้เป็นอย่างดี ว่าหมายถึง ” หญิงที่เคยแต่งงานหรือผ่านผู้ชายมาแล้ว และย่อมที่จะรู้จักการปรนนิบัติและเอาอกเอาใจผู้ชายได้ดีกว่าผู้หญิงที่ยังไม่เคยแต่งงาน”
กลิ่นอายความหอมของดอกกระดังงา ทำให้กลายมาเป็นสำนวน กระดังงาลนไฟ ยังเป็นที่รู้จักและใช้กันแพร่หลายในสังคมไทยทั้งในอดีตและคงทนมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังมีผู้นำไปแต่งเป็นบทเพลงที่ได้รับความนิยมนำไป ขับร้องกันไม่น้อย ดังท่อนหนึ่งของเนื้อร้องเพลงนี้ที่จดจำกันได้ดีคือ…. “ดอกเอ๋ย เจ้าดอกกระดังงา กลิ่นของเจ้าจะมีค่าเมื่อถูกนำมาลนไฟเอย…”
คนทั่วไปรู้จักชื่อ ของกระดังงาเป็นอย่างดีจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะไม่เคย รู้จักต้นกระดังงาก็ตาม และยังทราบว่าดอกกระดังงาจะมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษเมื่อมีการนำมาลนไฟ ทำให้ดอกกระดังงาจึงเป็นต้นไม้หรือดอกไม้พิเศษอีกชนิด หนึ่งของคนไทย ที่เหมือนจะไม่รู้จักแต่กลับให้ความรู้สึกคุ้นเคยเป็นอย่างดี ส่วนมันหอมระเหยจากกระดังงายังใช้ทำน้ำหอม และนำมาแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง ใช้แต่งกลิ่นขนมหรือ อาหารให้มีกลิ่นหอมน่ากิน ซึ่งสมัยก่อนมีการนำดอกกระดังงา มาอบกลิ่นหอมให้กับขนมไทย โดยใช้วิธีนำดอกกระดังงาแก่จัดสดๆ มาลนเปลวไฟจากเทียนเพื่อให้ต่อมน้ำหอมในกลีบดอกแตกออก และส่งกลิ่นหอมออกมามากกว่าปกติ จากนั้นนำไปเสียบไม้ลอยน้ำในภาชนะปิดสนิท ๑ คืน สามารถนำน้ำนั้นไปคั้นกะทิ หรือ ทำน้ำเชื่อมปรุงขนมหวานต่อไปได้ ซึ่งเทคนิควิธีการนำดอกกระดังงามาลนไฟนั้นก็เพื่อเพิ่มกลิ่นของความหอมขึ้นมาอีกเท่าตัว และยังคงเป็นต้นตอของสำนวนไทย “กระดังงาลนไฟ” ที่กล่าวมาข้างต้นอีกด้วย
คนไทยในอดีตยังนำดอกกระดังงาไปทอดในน้ำมันมะพร้าว เพื่อนำน้ำมันไปใส่ผมอีกด้วย ซึ่งมีผลทำให้ลดกลิ่นแรงๆ ของน้ำมันมะพร้าวและเป็นการเพิ่มความหอมของกลิ่นอายกระดังงาเข้าไปแทน