กลิ่นกำหนดความรู้สึกได้จริงหรือ???

เชื่อหรือไม่ว่ากลิ่นมีผลกับอารมณ์ความรู้สึกของคนเราอย่างแท้จริง และหลายคนยังมีการใช้กลิ่นหอมในการปรับอารมณ์ของมนุษย์ตั้งแต่ยุคโบราณ อาจจะเริ่มจากการใช้กลิ่นหอมในการบูชาเทพเจ้า และการใช้กลิ่นหอมจากธรรมชาติเพื่อช่วยในการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ อย่างที่เรียกกันว่า Aroma Therapy โดยเป็นการบำบัดโรคโดยใช้กลิ่น นั่นเป็นเพราะว่ามนุษย์มีประสาทสัมผัสที่สำคัญอยู่ 5 อย่าง ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัส ซึ่งตามแนวคิดทางศาสนา ประสาทสัมผัสทั้ง 5 อย่างที่ว่านี้ถือว่ามีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ ที่ทำให้รู้สึก รัก เกลียด และพอใจ เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ได้ ทำให้การใช้กลิ่นจึงเป็นหนึ่งในนั้น และเชื่อได้ว่า กลิ่นมีผลต่ออารมณ์ของมนุษย์จริงๆ
อารมณ์ที่เกิดขึ้นได้จากกลิ่นต่างๆ
แต่ละกลิ่นต่างก็มีผลกับความรู้สึกและอารมณ์ของคนเรามากมาย ซึ่งล้วนแล้วมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น จากใบไม้ ดอกไม้ รากไม้ หรือเมล็ด ฯลฯ ต่างก็สามารถนำมาสกัดทำให้เกิดกลิ่นต่างๆ ได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นของมะนาว, ยูคาลิปตัส ,กระดังงา ,ดอกคาโมมายล์ ,เปปเปอร์มินต์ , ส้ม, ลาเวนเดอร์ ,อบเชย ,พริกไทย, มะลิ,กุหลาบ ฯลฯอย่างกลิ่นมะนาวจะทำให้รู้สึกสดชื่น และช่วยในการปลุกให้มีอารมณ์ตื่นตัว ทำให้ไม่ง่วงเหงาหาวนอน และรวมถึงช่วยลดความอยากอาหารได้อีกด้วย
กลิ่นที่ดมแล้วรู้สึกสบาย
ส่วนใครที่อยากสูดกลิ่นหอมเย็นๆ หรือกำลังมีอาการคัดจมูก กลิ่นของยูคาลิปตัสจะมีส่วนช่วยให้รู้สึกโล่ง ปลอดโปร่งและมีสมาธิมากขึ้นและยังช่วยบรรเทาอาการเป็นหวัดคัดจมูกได้ดีอีกด้วย ซึ่งยูคาลิปตัสกับกลิ่นของ เปปเปอร์มินต์ จะคล้ายๆ กัน เพราะ ทำให้สดชื่น มีชีวิตชีวา และช่วยทำให้หายใจโล่งปลอดโปร่ง แต่หากสูดดมกลิ่นดอกคาโมมายด์ ก็จะทำให้รู้สึกช่วยให้มีสมาธิ คือเป็นกลิ่นที่ดมแล้วสะอาด ส่วนกลิ่นของส้มทำให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลายและช่วยลดความตึงเครียดของอารมณ์ ซึ่งเหมาะมากที่จะใช้กลิ่นส้มในยามค่ำคืน เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเครียดหรือกดดันจากภาระการทำงานมาตลอดทั้งวัน
กลิ่นแห่งความมั่นใจ
คนไทยสมัยก่อนมักจะเปรียบสตรีผู้มีเสน่ห์ว่าเป็นกระดังงาลนไฟ ประมาณว่าเป็นหญิงสาวที่เลยวัยแรกรุ่นไปแล้วแต่กลับมีเสน่ห์มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งกลิ่นหอมของดอกกระดังงานั้น จะช่วยทำให้เกิดความมั่นใจ อบอุ่น สบายใจ และจนถึงอารมณ์รัญจวนใจ ส่วนกลิ่นของอบเชย ที่อยู่ในเครื่องหอมรวมไปถึงใช้ในการประกอบอาหารนั้น จะช่วยให้เกิดความรู้สึกมั่นใจ และฮึกเหิม ไม่ท้อถอย ซึ่งไม่ต่างกับกลิ่นของพริกไทยที่ใส่ในอาหาร โดยจะมีผลกระตุ้นต่อประสาท ทำให้เกิดความคึกคัก และฮึดสู้ ทำให้ลดความรู้สึกย่อท้อ