สายหยุด เป็นดอกไม้ที่มีชื่อในเรื่องของความหอม แม้แต่ในวรรณคดีไทยในอดีตยังเอ่ยชื่อสายหยุด ในบทชมสวนหรือชมป่าอยู่เสมอ ซึ่งไม่ว่าจะเป็น “ลิลิตตะเลงพ่าย” โดยพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สายหยุดยังพบในวรรณคดีเรื่อง “อิเหนา” พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 2 ซึ่งจะเรียกว่า ดอกสาวหยุด และ ยังมีชื่อของดอกสายหยุดใน“นิราศเมืองแกลง”ของสุนทรภู่ อีกด้วย
ถิ่นกำเนิด ดั้งเดิมของสายหยุดอยู่ทางตอนใต้ของจีน ไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ ลงไปถึงแหลมมลายู (ประเทศมาเลเซีย) และประเทศไทยก็เป็นแหล่งกำเนิดดั้งเดิมของสายหยุดด้วย ซึ่งต้นสายหยุด อยู่ในวงศ์เดียวกันกับกระดังงา และ น้อยหน่า เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง กึ่งเลื้อย และกึ่งยืนต้น หากมีเครื่องช่วยพยุง อย่างนั่งร้านหรือเสา จะเลื้อยพันขึ้นไปได้ดี หากปลูกกลางแจ้งก็จะยืนต้นได้ในลักษณะไม้พุ่มคล้ายกับนมแมว ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกัน ดอกตูมมีสีเขียวเมื่อบานเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ส่วนกลีบบิดงอเพราะค่อนข้างบาง หลายคนชอบกลิ่นหอมของสายหยุด เพราะสายหยุดออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่ก็ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศและความสมบูรณ์ของต้นด้วย ส่วนใหญ่จะออกดอกมากช่วงฤดูฝนและต้นฤดูหนาว แต่ดอกสายหยุดจะเริ่มส่งกลิ่นหอมอย่างแรงขึ้นเมื่อยามพลบค่ำ และจะมีกลิ่นหอมแรงสุดโต่งช่วงเวลาเช้ามืด จากนั้นกลิ่นจะค่อยๆจางลงในเวลากลางวัน จากคำบรรยาย คือ เป็นดอกไม้ที่ให้กลิ่นหอมตอนเช้า และตอนสายหยุดหอม จึงเป็นที่มาของคำว่าสายหยุด(หอม) เหมือนกับโคลงที่ยกมาขึ้นต้นด้วย “สายหยุด หยุดกลิ่นฟุ้ง ยามสาย”
คนไทยในอดีตมักจะชอบและคุ้นเคย ชื่นชอบไม้ดอกหอมๆ อย่างสายหยุดมากเป็นพิเศษ ต่างจากปัจจุบันที่รู้จักสายหยุด น้อยลงทุกที แต่กลับรู้จักดอกไม้จากต่างประเทศมากขึ้นอย่าง ลิลลี่ ทิวลิป คาร์เนชั่น ฯลฯ ซึ่งคนไทยในอดีตดูเหมือนจะชื่นชอบสายหยุดมากกว่า เพราะพ่อแม่นิยมนำชื่อดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมๆ อย่างสายหยุดมาตั้งชื่อให้ลูกสาว รวมทั้งดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมยอดนิยม อย่าง จำปี จำปา มะลิ กุหลาบ และสายหยุด การะเกด ดอกแก้ว ฯลฯ
ประโยชน์ของสายหยุดในด้านสมุนไพร รากสามารถใช้เป็นยาแก้บิด ส่วนดอกสายหยุดนำไปสกัดเป็นน้ำมันหอม หรือใช้ทำน้ำหอมสำหรับเครื่องสำอาง ซึ่งสายหยุดเหมาะสำหรับปลูกในสวนไม้ดอก หรือในบริเวณบ้าน แต่ต้องทำนั่งร้านให้สาย หยุดเลื้อยขึ้นไปปกคลุมอยู่ด้านบน
สายหยุดเป็นไม้ดอกที่พิเศษสุดอย่างหนึ่ง กลิ่นดอกสายหยุดจะหอมอบอวลไปทั่วบริเวณ ทำให้เกิดความคุ้นเคยกับกลิ่นดอกสายหยุดรวมทั้งบรรยากาศยามเช้า แม้หากได้กลิ่นหอมของสายหยุดเมื่อใด อาจทำให้ความทรงจำต่างๆ ที่ผ่านมา กลับมาอย่างชัดเจน ทำให้เข้าใจความเชื่อของคนไทยในอดีตที่ว่า การได้ดมกลิ่นหอมๆ อาจทำให้ระลึกถึงวันเก่าๆ ที่ทำให้มีความสุขได้